วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ที่มาของ ต.วังหิน (ฤทธากรณ์)


ตำบลวังหินมีที่มาดังนี้ คำว่า “วัง” เป็นชื่อเรียกของชาวบ้านที่ใช้เรียก แม่น้ำ หรือห้วงน้ำ ที่มีน้ำลึก ทั้งนี้ตำบลวังหินเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำตรังไหลผ่านบริเวณหมู่ที่ 2 หมู่ 3 และ หมู่5 ทั้งนี้บริเวณดังกล่าว มีช่วงหนึ่งที่น้ำลึกเป็นวัง มีลักษณะพิเศษคือ มีหินเป็นชั้นๆ ลึกลงไปมีลักษณะของชั้นหินที่โดนเด่น นั่นคือมีชั้นหินที่มีลักษณะเป็นรูปหัวเสือชาวบ้านเรียกอีกชื่อว่า วัง “ค้างคูด” คำว่า “ค้างคูด” หมายถึงเสือ (การใช้คำว่าค้างคูด แทน เสือ เพื่อให้ดูน่ากลัวน้อยลง) แต่ต่อมาหินรูปหัวเสือได้ถูกกัดเซาะจนมองไม่เห็น คงเหลือเพียงหินเป็นชั้นๆให้ได้ดูเท่านั้น ภายหลังจึงใช้ชื่อตำบลว่า “ตำบลวังหิน” ตั้งแต่นั้นมา อดีตตำบลวังหินเป็นพื้นที่ป่าดงดิบมีสัตว์ป่าหลายชนิด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน ตระกูลแรกๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเช่น ตระกูลฤทธากรณ์ ตระกูลทองเนื้ออ่อน ต่อมามีการอพยพ ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปากพนังอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ยกพื้นสูงเพราะต้องป้องกันสัตว์ป่าเข้ามาทำร้าย การปกครองตำบลวังหินเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งทรงเสด็จมายังพื้นที่อำเภอทุ่งสง โดยมี นายพุ่ม ฤทธากรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นกำนันตำบลวังหินคนแรก เข้าเฝ้ารับเสด็จ ต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอาสาสุนทร หรือที่ชาวบ้านขนานนามว่า ขุนอาสา มีหน้าที่ ในการตัดสินคดีความภายในตำบล ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยของคุกโบราณในพื้นที่บริเวณบ้านผู้ใหญ่ หมู่ที่ 11 บ้านน้ำหัก ตำบลวังหิน ตำบลวังหินอยู่ในพื้นที่ อำเภอทุ่งสงต่อมา เมื่อปี 2523 กิ่งอำเภอบางขันได้แยกจากอำเภอทุ่งสง ตำบลวังหินจึงอยู่ในพื้นที่กิ่งอำเภอบางขันตั้งแต่นั้น ทั้งนี้ในอดีตตำบลบ้านนิคมก็เป็นส่วนหนึ่งของตำบลวังหิน ปัจจุบันตำบลวังหินจึงประกอบด้วยหมู่บ้าน 13 หมู่บ้าน มีกำนันรวมทั้งสิ้น 8 คน